ภาวะโลกร้อน และราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ "พลังงานแสงอาทิตย์" ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) สะอาดได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ มีการใช้ที่แพร่หลายขึ้น แม้ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับพลังงานในรูปแบบอื่น กระนั้น ก็เป็นเทคโนโลยีพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดโดยมีอัตราการเติบโตของโลกเฉลี่ยร้อยละ 48 ต่อปีนับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา
การพัฒนาของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก
การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตแผง/เซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงที่ผ่านมามีข้อจำกัดจากอุปทานของวัตถุดิบ ปัจจุบันการผลิตถูกจำกัดโดยอุปทานของวัตถุดิบ (โพลีซิลิคอน) ซึ่งตั้งแต่ปี 2549 มีความขาดแคลน ส่งผลให้ราคาโพลีซิลิคอนซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตบางส่วนหันไปหาการผลิตโซลาร์เซลล์แบบฟิลม์บาง (thin film) ที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่มีการพึ่งพาโพลีซิลิคอนต่ำกว่าการผลิตแบบ crystalline
อุตสาหกรรมการผลิตแผง/เซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย.. เป็นการผลิตเพื่อมุ่งส่งออกเนื่องจากตลาดภายในประเทศมีขนาดและการเติบโตที่จำกัด แม้ว่าด้วยลักษณะสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์จากแสงแดด แต่ปัจจุบันยังมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อยู่เป็นจำนวนน้อย ในปี 2550 ไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพียง 32.3 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 10.5 หรือประมาณ 3.4 เมกะวัตต์เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับระบบ (grid-connected) ในขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.6 หรือ 26 เมกะวัตต์เป็นการผลิตไฟฟ้าในบริเวณที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
เนื่องจากตลาดในประเทศมีขนาดและการขยายตัวที่จำกัด การผลิตแผง/เซลล์แสงอาทิตย์ในไทยส่วนใหญ่จึงเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ในปี 2550 ไทยมีการส่งออกสินค้าในหมวดนี้เป็นมูลค่ารวม 213.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ของการส่งออกของทั้งโลก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ กลุ่มประเทศยุโรป อาทิ เยอรมัน ฮังการี และสหรัฐฯ
ด้านการผลิต สถานการณ์การขาดแคลนโพลีซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ทำให้ความสามารถในการจัดซื้อวัตถุดิบเป็นข้อจำกัดของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยผู้ผลิตต้องทำสัญญาจัดซื้อระยะยาวซึ่งต้องมีเงินทุนในการชำระล่วงหน้าเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้
โอกาสและปัจจัยที่จะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย
แนวโน้มตลาดภายในประเทศ.. การเติบโตของตลาดภายในประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ตลาดภายในประเทศไทยค่อนข้างจำกัด โดยไทยมีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3 เมกะวัตต์ต่อปี ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยช่วง 5 ปี (2551-2554) โดยได้มีการตั้งเป้าหมายในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 45 เมกะวัตต์จากเดิม 32.25 เมกะวัตต์
รัฐมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจและส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยมีการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ค่า adder) เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ยังอยู่ในระดับที่สูง การเพิ่มแรงจูงใจจึงเป็นตัวกระตุ้นตลาดในประเทศที่สำคัญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าตลาดที่มีศักยภาพของธุรกิจ คือ การติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคารธุรกิจ/โรงงาน/รีสอร์ทและโรงแรม สำหรับตลาดอื่นๆ หากรัฐมีการสนับสนุนมากเพียงพอก็น่าจะทำให้มีการลงทุนสร้างโซลาร์ฟาร์มเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบและการติดตั้งแผงโซลาร์ของครัวเรือนแพร่หลายมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น